คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา  ติดตามความคืบหน้าด้านแนวทางการพัฒนาท่าเรือ  Home port ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดเล็ก

คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา

 ติดตามความคืบหน้าด้านแนวทางการพัฒนาท่าเรือ  Home port  

ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับเรือสำราญขนาดเล็ก

            เมื่อวันที่19 พ.ย.64 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต (หลังเก่า)  พล.ร.อ.ชุมนุม  อาจวงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 ในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา พร้อมด้วย พลเรือเอกอิทธิคมน์ ภมรสูต เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการพัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวทางน้ำ และอื่นๆ ในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาท่าเรือต้นทาง (Home port)ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดเล็ก (Small Luxury cruise) หลังจากคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าว เคยมาประชุมเพื่อติดตามเรื่องนี้  เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 และแผนงานที่จะดำเนินการต่อไป โดยมี นายพิเชษฐ์  ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมส่วนราชการและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต, ตรวจคนเข้าเมืองภูเก็ต, สรรพากรพื้นที่ภูเก็ต, ศุลกากรภูเก็ต, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต  ฯลฯ เข้าร่วม

          โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเสนอความพร้อมของทางจังหวัดภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือน้ำลึก โดยมี สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต  ได้นำเสนอถึง การบูรณาการแผนงานสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือต้นทาง โฮมพอร์ต (Home port) เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อให้การพัฒนามีเอกภาพและเกิดความต่อเนื่อง และมีการศึกษาท่าเรือ จากโครงการนำร่องเปิดพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว Phuket Sandbox  และ จำนวนท่าเทียบเรือโดยสารในพื้นที่จ.ภูเก็ต อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร จำนวน 22 ท่า และ ท่าเทียบเรือรองรับกลุ่ม นทท. Sandbox อีกจำนวน 10 ท่า

           ทั้งนี้ ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเปิดรับ นทท. รวมถึงการรายงานสถานการณทางน้ำ และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ในการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ของกรมเจ้าท่า ในปี 2561 จากข้อมูลมีเรือ Cruise ที่ได้เข้าเทียบท่าในประเทศไทย จำนวน  581 เที่ยว  ซึ่งเป็นลำดับที่ 3 ของเอเชีย มีการเติบโตถึง 14%  จึงสามารถสร้างรายได้ประมาณ  4.7 พันล้านบาทต่อปี และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ด้วยวงเงินงบประมาณรวม 156.15 ล้านบาท กับการพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ซึ่งได้แบ่งการสำรวจออกเป็น 3 พื้นที่ ดังนี้. 1. งานศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง (Home port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน  2. งานศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และ 3. งานที่ศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) และสำรวจแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษา ผลงานร้อยละ 30 วงเงิน 69,200ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในเดือน กรกฎาคม 2565

         ส่วนความพร้อมของหน่วยงานอื่น อาทิเช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดภูเก็ต ด้านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง และ การจัดการด้านสาธารณสุขทางทะเล รวมถึง ความพร้อมในการทำตลาดท่องเที่ยว ซึ่งทุกหน่วยยืนยันถึงความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็นโฮมพอร์ต (Home port) เพื่อเป็นพื้นที่นำร่อง  อีกทั้งยังจะได้มีการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอไปยังส่วนกลาง ในการพิจารณาขั้นต่อไป

         พล.ร.อ. ชุมนุม อาจวงษ์  รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 ในคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ได้กล่าวหลังจากที่ได้มีการรับฟังความพร้อมและปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานต่างๆ ถึงแนวการผลักดันให้ภูเก็ตเป็น โฮมพอร์ต นั้นได้มีการศึกษาเรื่องนี้เป็นระยะเวลาพอสมควร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการทำตลาด ซึ่งพบว่ามีความต้องการสูง หลังจากนั้นได้มีการผลักดันเข้าไปในแผนการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแผนที่ถูกผลักดัน เมื่อรับธรรมนูญปี 60 ทำให้เกิดแผนในยุทธศาสตร์ชาติ และในส่วนของวุฒิสภาส่วนหนึ่งมีหน้าที่ในการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัด เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

          นอกจากนนี้ หลังจากที่ได้รับฟังรายงานจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทราบว่า ได้มีการพัฒนาในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานไปในระดับหนึ่ง และพบว่าภูเก็ตมีความพร้อมมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสนามบิน ที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พร้อมมาก สำหรับการเป็นโฮมพอร์ต แต่หากไม่มีการผลักดันให้เกิดความชัดเจนก็คงจะเกิดขึ้นได้ช้า ซึ่งมองว่าช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และผู้คนต้องการที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว  จึงควรอาศัยจังหวะนี้ในการผลักดัน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และจะเร่งให้แล้วเสร็จให้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2565 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

         พล.ร.อ.ชุมนุม กล่าวสรุปว่า  ในขณะนี้ทุกภาคส่วนแม้กระทั่งทางจังหวัดเห็นประโยชน์และมีเป้าหมายร่วมกันแล้วว่า การทำตรงนี้จะเกิดประโยชน์กับประเทศและจังหวัดเป็นอย่างมาก  เพราะการเป็นท่าเรือต้นทางจะทำให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติม นอกจากนั้นจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้เวลาในประเทศไทยมากขึ้น  ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ของการท่องเที่ยว และเป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในด้านท่องเที่ยวอีกด้วย