ทำหมัน “ลิงแสม” ภูเก็ต คุมประชากรกว่า 200 ตัว

         จังหวัดภูเก็ต จัดการแก้ปัญหาวิกฤต “ลิง” ออกจากป่ามาสร้างความเดือดร้อนในชุมชนได้เรียบร้อย ตามความเห็นชอบ จากการทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 5 ชุมชน จากลิงแสม โดยการจับทำหมันกว่า 200 ตัว ทั้งปล่อยกลับถิ่นเดิม และอพยพไปที่ใหม่ที่เกาะปายู พื้นที่ถลาง 80 ตัว

        จากกรณี จังหวัดภูเก็ต เป็น1ใน12จังหวัด ที่เกิดวิกฤต “ลิง” ออกมาสร้างความเดือดร้อนในชุมชน 7 พื้นที่ และถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องในการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้อนุมัติงบประมาณ 996,500 บาท ดำเนินการสำรวจเกาะ 5 เกาะที่จะทำเป็นนิคมลิง และจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ได้ข้อสรุปว่า เห็นด้วยที่จะให้ทำหมันเพื่อควบคุมจำนวนลิง รวมทั้งให้นำลิงที่สร้างปัญหาออกจากพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนพื้นที่ที่เป็นจุดท่องเที่ยวยังให้คงอยู่ต่อไปแต่จะต้องมีการทำหมัน

       หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว ร่วมกับ นายศิวนัฐ สี่เหลี่ยมน้อย พนักงานพิทักษ์ ส.2 ผู้ช่วยหัวหน้าเขตเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแส เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว และ สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกันดำเนิการจับลิงเพื่อทำหมัน ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้สามารถจับลิงทำหมันได้แล้วกว่า 200 ตัว และนำไปพักฟื้นที่น้ำตกบางแป เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว

       ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2561 บริเวณป่าชายเลนกิ่งแก้ว ซอย 9 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต, เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต, เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร, เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี, สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ร่วมกันปล่อยลิงแสมจำนวน 42 ตัว คืนสู่ป่าชายเลนพื้นที่เดิมหลังจากได้ทำการดักจับ และนำไปทำหมันจนร่างกายฟื้นสมบูรณ์ ตามแผนปฏิบัติการ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงแสม และลิงกังในจังหวัดภูเก็ต

        ทั้งนี้ ทันทีที่เจ้าหน้าที่ฯ ทำการเปิดกรง บรรดาลิงแสมทั้งหมดต่างพุ่งออกจากกรงว่ายน้ำเข้าป่าชายเลน และเมื่อข้ามน้ำไปได้ก็ส่งเสียงร้องทยอยเข้าป่าชายเลนทันที โดยลิงแสมทั้งหมดเป็นลิงแสมวัยเจริญพันธุ์ที่ดักได้ในพื้นที่ป่าชายเลนกิ่งแก้วซอย 9 จากทั้งหมด 71 ตัว คิดเป็น 60% ของลิงที่ทำหมันเพื่อควบคุมประชากร ซึ่งเป็นไปตามผลการประชาพิจารณ์เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ต้องการให้ปล่อยลิงที่ทำหมันแล้วคืนกลับที่เดิม และบางส่วนให้เคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้แออัด และจะเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ที่เหมาะสมหลังจากการทำหมันและพักฟื้นจนสุขภาพแข็งแรงแล้ว

        อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของการดักจับลิงแสมไปทำหมันเพื่อควบคุมประชากรลิงของจังหวัดภูเก็ตซึ่งทางเจ้าหน้าที่ฯ ได้ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 จุด จากทั้งหมด 7 จุด สามารถจับลิงแสมได้รวม 216 ตัว (ยอดเมื่อ 18 มิ.ย.61) โดยในจำนวนดังกล่าวเจ้าหน้าที่ฯ ได้คัดเลือกลิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการทำหมันจำนวนหนึ่งเป็นลิงของพื้นที่ป่าชายเลนกิ่งแก้ว จำนวน 42 ตัว ที่ได้นำปล่อยคืนสู่ป่าจุดเดิมดังกล่าว ส่วนที่เหลือจะทยอยทำหมันก่อนนำปล่อยคืนสู่สถานที่ที่เหมาะสม (เกาะ 5 แห่ง) โดยตามเป้าหมายในระยะแรกจะนั้นจะต้องทำหมัน ให้ได้จำนวน 150 ตัว ยังเหลือ อีก 108 ตัว

         ขณะเดียวกันในส่วนของการดักจับลิงนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ยังมีการวางกรงดักจับลิงแสมเพื่อทำหมัน บริเวณจุดชมลิงเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ได้ลิงแสม จำนวน 52 ตัว ซึ่งลิงจำนวนดังกล่าว ได้มีการนำไปพักฟื้นไว้ที่น้ำตกบางแป เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว เพื่อทำหมันและนำปล่อยกลับที่เดิม และหาที่อยู่ให้ใหม่ตามความเหมาะสมต่อไป

        ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น.วันที่ 20 มิถุนายน 2561 ที่บริเวณด้านข้างจุดชมลิงเกาะสิเหร่ ม.1 ต.รัษฏา อ.เมืองภูเก็ต เจ้าหน้าที่คณะทำงานเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงแสมและลิงกังในจังหวัดภูเก็ต นำโดย นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต  นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร นายศิวณัฐ สี่เหรียญน้อย ผู้ช่วยหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์, เจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี สัตวแพทย์จากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย นายภาวัต ศุภสุวรรณ รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฏา ผู้แทนหัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ภูเก็ต ผู้แทนหัวหน้าศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ภูเก็ต ผู้แทนหัวหน้าสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย จ.ภูเก็ต และผู้แทนผู้อำนวยการองค์การสะพานปลา ภูเก็ต รวมถึงประชาชนในพื้นที่ เกาะสิเหร่ ต.รัษฎา ร่วมกันปล่อยลิงแสมจำนวน 41 ตัว คืนกลับสู่ป่าชายเลนที่เดิม

        โดยลิงแสมชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นลิงแสมชุดที่ 2 ที่มีการทำหมันและพักฟื้นแล้วเสร็จ ตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากลิงในจังหวัดภูเก็ต โดยทันทีที่เจ้าหน้าที่ทำการเปิดกรง ลิงแสมทั้งหมดต่างพุ่งออกจากกรงวิ่งเข้าป่าชายเลน กลับเข้าฝูง โดยไม่มีการทะเลาะหรือทำร้ายกันแต่อย่างใด

         ทั้งนี้ ลิงแสมที่นำมาปล่อยที่ป่าชายเลนจุดชมลิง จำนวน 41 ตัวดังกล่าว  เป็นลิงแสม ที่เจ้าหน้าที่คณะทำงานฯ ดำเนินการดักจับ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยสามารถ จับลิงแสมในจุดดังกล่าวได้ทั้งหมด 52 ตัว ขณะนี้ยังคงเหลือลิงแสมอีก 11 ตัวที่ทำหมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่สัตวแพทย์ยังให้รอการพักฟื้น ให้บาดแผลมีความปลอดภัย  ก่อนจะนำมาปล่อยคืนเพิ่มเติมในภายหลัง

         นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ กล่าวว่า จากที่มีการพูดกันว่า เมื่อนำลิงออกจากฝูงไปทำหมันแล้วใช้เวลาพักฟื้นยาวนานเกิน 48 ชั่วโมง หากนำมาปล่อยคืนจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และทำร้ายกันขึ้นนั้น ตนขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง จากการปล่อยคืนลิง 2 ชุดแรกที่ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ได้ติดตามดูพฤติกรรมลิงแล้ว ยังไม่พบว่ามีความขัดแย้งระหว่างฝูงลิงเกิดขึ้น ลิงทั้งหมดสามารถกลับไปใช้ชีวิตในถิ่นเดิมได้ตามปกติ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในหลายจังหวัด เจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยพบปัญหารุนแรงตามที่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นว่า ลิงที่ผ่านกาทำหมัน และปล่อยกลับที่จุดเดิมนั้น ยังมีจำนวนเท่าเดิม และไม่มีความขัดแย้งหรือมีปัญหาอื่นๆ ฝูงตามมาภายหลัง

        อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมนั้น เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการดักลิงในพื้นที่เป้าหมายจำนวน 5 จุด จากทั้งหมด 7 จุด สามารถจับลิง แสมได้แล้ว รวม 216 ตัว (ยอดเมื่อ 18 มิ.ย.61) โดยใน 216 ตัว นั้นเจ้าหน้าที่ได้คัดเลือกลิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์พร้อมเข้าสู่กระบวนการทำหมันและได้นำปล่อยคืนสู่ป่าจุดเดิมแล้วจำนวน 83 ตัว ส่วนที่เหลือนั้นจะทยอยทำหมันเพิ่ม ก่อนนำปล่อยคืนสู่สถานที่ที่เหมาะสม (เกาะ 5 แห่ง) ซึ่งตามเป้าหมายในระยะแรกจะนั้น จะต้องทำหมัน ให้ได้จำนวน 150 ตัว ซึ่งยังเหลือ อีกประมาณ 67 ตัว

         อย่างไรก็ตาม นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทวพบปะราษฎรซอยท่าจีน ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต หลังจากที่ได้ดำเนินการดักจับลิงแสมเพื่อทำหมันแล้ว ราษฎรมีความพอใจ แต่ยังคงพบเห็นลิงแสมบางส่วนหลงเหลืออยู่ในป่าชายเลน จึงได้ขอความร่วมมือควบคุมการทิ้งขยะโดยเฉพาะเศษอาหารให้มิดชิดเป็นที่เป็นทาง และงดเว้นการให้อาหารลิงโดยเด็ดขาด เพื่อไม่ให้ลิงมีพฤติกรรมเคยตัว รอคอยอาหารจากมนุษย์ ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาการสร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อไปในอนาคต

        ส่วนบริเวณกิ่งแก้ว ซอย 9 ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ราษฎรในพื้นที่ให้ข้อมูลว่าลิงแสมซึ่งถูกดักจับเข้าสู่กระบวนการทำหมัน และนำกลับมาปล่อยที่เดิม สามารถกลับเข้าฝูงและอยู่ร่วมกันได้ตามปกติ

        ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์  สถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง  เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทวร่วมกันปล่อยลิงแสมที่ดักจับและทำหมันแล้วคืนสู่ธรรมชาติ จำนวน 80 ตัว ที่เกาะปายู ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 เกาะที่ได้เตรียมไว้เพื่ออพยพลิงไปอยู่

        สรุปแผนปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีลิงที่ทำหมันทั้งสิ้น จำนวน 169 ตัว แยกเป็นตัวผู้ จำรวน 122 ตัว ตัวเมีย 47 ตัว โดยนำกลับคืนที่เดิม 2 แห่ง ได้แก่ กิ่งแก้ว ซอย 9 จำนวน 42 ตัว จุดชมลิงเกาะสิเหร่ จำนวน  47 ตัว  และปล่อยสู่ธรรมชาติ ณ เกาะปายู จำนวน 80 ตัว  หลังจากนี้จะได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์ของลิงแสมทั้ง 3 จุด ดังกล่าวต่อไป

        สำหรับการปล่อยลิงลงเกาะปายู ซึ่งเป็นเกาะที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ และเป็นเกาะที่มีการสำรวจแล้วว่า ลิงจะสามารถอาศัยอยู่ได้ มีทั้งอาหารและน้ำ นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ยังได้นำถังน้ำขนาดใหญ่เพื่อสำรองน้ำไว้ให้ลิงด้วย

        ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.61 นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว นำน้ำจืดไปเติม นำอาหารไปส่ง พร้อมทั้งติดตามพฤติกรรมของลิงแสมที่ทำหมันแล้วและคืนสู่ธรรมชาติบนเกาะปายู เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.61 ปรากฏว่า มีลิงแสมมาทักทายอยู่ห่างๆ และกินอาหารที่นำมาส่ง ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะค่อยๆ ลดปริมาณอาหารที่นำมาส่ง สังเกตพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งลิงแสมสามารถปรับตัวให้อยู่กับธรรมชาติได้ในที่สุด

        และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.61 นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว ติดตามลิงแสมที่ทำหมันแล้วและนำมาปล่อยที่เดิม บริเวณจุดชมลิงเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.61 ปรากฏว่า สามารถใช้ชิวิตอยู่กับฝูงเดิมได้ตามปกติ