สำนักงาน​ส่งเสริมกองทุนสุขภาพ​ (สสส.)​ จับมือ​กับ สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัย​สงขลา​นครินทร์​ คณะ​บริการและการท่องเที่ยว​ มอ.ภูเก็ต และ​ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ​ “พหุวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มลูกค้ามุสลิม”

สำนักงาน​ส่งเสริมกองทุนสุขภาพ​ (สสส.)​ จับมือ​กับ สถาบันนโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัย​สงขลา​นครินทร์​

คณะ​บริการและการท่องเที่ยว​ มอ.ภูเก็ต และ​ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ​ “พหุวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มลูกค้ามุสลิม”

             คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดโครงการการขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรมในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนโดยสำนักงานส่งเสริมกองทุนสุขภาพ (สสส.) โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต

             วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น.​ ที่ห้องประชุม ชั้น 2 โรงแรมเพิร์ล ภูเก็ต คณะการบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับโครงการการขับเคลื่อนแนวทางสุขภาพพหุวัฒนธรรมในสถานบริการของรัฐและเอกชนในพื้นที่ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สถาบันนโยบายสาธารณะ​ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต​ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ”พหุวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มลูกค้ามุสลิม” โดยมีผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารสถานพยาบาลทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อาทิ​ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลดีบุก​ โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ เป็นต้น รวมถึง​ สถานประกอบการที่ให้บริการสุขภาพ โรงแรม​ ที่พัก และสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมสปาเพื่อสุขภาพจังหวัดภูเก็ต​ สื่อมวลชน​ เข้าร่วมการอบรม จำนวนกว่า 50 คน

                ผศ.ดร.พรพิษณุ พรหมศิวะพัลลภ คณบดี การบริการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงาน​ การใช้แนวทางการบริการสุขภาพวัฒนธรรม สอดคล้องกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ที่ได้ดำเนินการสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่อันดามันให้มีองค์ความรู้และเพิ่มขีดความสามารถ​ ในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ โดยดำเนินการร่วมกันกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนทำให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายในการจัดตั้ง Andaman Wellness Corridor (AWC) ระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน ในอนาคต​ ปี 2565 โดยวิทยาเขตภูเก็ต ได้ดำเนินการศึกษารูปแบบการขับเคลื่อนพื้นที่จังหวัดภูเก็ต​ สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ

                 กรณี​ ที่ศึกษาตำบลกะรน (Karon Wellness Tourism City) หนึ่งในผลการศึกษาพบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการจะเพิ่มมูลค่าการบริการให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลให้สถานประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งด้วยลักษณะของพื้นที่อันดามันที่มีทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สวยงาม ดึงดูดนักเที่ยวชาวด่างชาติ จากหลายประเทศและหลากหลายวัฒนธรรมให้เข้ามาท่องเที่ยวในกลุ่ม
จังหวัดอันดามันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลมีความร่วมมือกับประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งผู้ประกอบการของกลุ่มจังหวัดอันดามัน ยังไม่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของนักท่องเที่ยวกลุ่มเหล่านี้ได้

                ซึ่ง​โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้สถานประกอบการ และสถานพยาบาล โดยระยะแรกจะจัดทำต้นแบบให้กับสถานบริการเอกชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย​ จำนาน 5 แห่ง​ ในจังหวัดภูเก็ตและจะขยายผลต่อไปยังพื้นที่อันดามันอื่นๆในอนาคตอีกด้วย​ ผศ.ดร.พรพิษณุ กล่าวทิ้งท้าย​

               ทางด้าน​ นายรังสิมันต์ กิ่งแก้ว กรรมการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มึกลยุทธ์ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว มุ่งเน้น​ กระตุ้น​ และ​ ส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มมุสลิมจากทั่วโลก ในการรองรับโอกาสจากนักท่องเที่ยวประเทศซาอุดิอาระเบียและกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่ง​ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเข้ามาเยี่ยมเยือน โดยทาง สมาคมฯคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากประเทศตะวันออกกลางจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

                    นายรังสิมันต์ กล่าวต่ออีกว่า ทางสมาคม ฯ ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. และ​ อบจ.ภูเก็ต​ มีแผนจะจัดงาน PTA Roadshow 2023 ในหลายๆประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศซาอุดิอาระเบีย โดยกำหนดจัดในปลายเดือน มกราคม 2566 เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกของสมาคม ฯ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวของ​ จ.ภูเก็ต ให้มีความรู้ ความเข้าใจในวิถีมุสลิม จึงกำหนดการจัดการฝึกอบรมนี้ขึ้นมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวของจ.ภูเก็ตในอนาคตต่อไป

                  การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวของจ.ภูเก็ต เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสของนักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เข้าใจความแตกต่างของมุสลิมในแต่ละประเทศ รวมทั้งเข้าใจกลยุทธ์ในการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ากลุ่มมุสลิม อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ (Do and​ Don’+) และจะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ​ โดยใช้ผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการออกแบบการให้บริการให้ตรงใจลูกค้า (สปา, โรงแรม, โรงพยาบาล, ทัวร์, ร้านอาหาร ) และคาดหวังว่ากระบวนการที่ได้จัดทำขึ้นใหม่นี้ จะช่วยยกกระดับและเพิ่มมูลค่าการบริการของสถานพยาบาลและสถานประกอบการ พร้อมช่วยให้สถานพยาบาลและสถานประกอบการเพิ่มมูลค่าการบริการด้านพหุวัฒนธรรม และสร้างรายได้​ ให้ได้มากขึ้น​ นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายในที่สุด