หนุนตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ประยุกต์ใช้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

         สำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต สนับสนุนตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวาน พัฒนาประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

         เมื่อวันที่ 21 ก.ค.60 ที่ผ่านมา สำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต กระทรวงพลังงาน นำโดย นายวิโรจน์ ดำคง พลังงานจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นางสาวลัดดาวัลย์ วายุพัฒน์  นักวิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักปลัดกระทรวงพลังงาน และ นางเสาวนีย์ ศักดิ์สมกุลอุทัย ได้เดินทางมาเยี่ยมชมการแปรรูปส้มควายตากแห้งด้วยตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรบางหวานพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมี นายยุทธพงศ์ ยายี กำนันตำบลกมลา นายกฤษณ์ สาริยา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.กมลา นางสาวลัดดา คาวิจิตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และสมาชิกกลุ่ม และ พ.ต.ท.ประมวล จ่ายกระโทก รอง ผกก.สภ.กมลา ร่วมให้การต้อนรับคณะดังกล่าว และมีสื่อมวลชนเข้าร่วม

         นายวิโรจน์ ดำคง พลังงานจังหวัดภูเก็ต เกล่าวว่า ตามที่กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายการขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้นโยบาย Energy 4.0 ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ในการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา หมู่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ถือเป็นหนึ่งในความร่วมมือที่กระทรวงพลังงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบูรณาการพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกับอาชีพของชุมชนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ โดยได้ร่วมส่งเสริมนวัตกรรมระบบอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2 เมตร จำนวน 3 ตู้ งบประมาณโดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2560  จำนวน 50,000 กว่าบาท เพื่อใช้ในการแปรรูปผลผลิต “ส้มควาย” พืชท้องถิ่นของจังหวัดภูเก็ตเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ได้แก่ ส้มควายกวน ส้มควายแช่อิ่ม ส้มควายแก้ว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร

         ที่ผ่านมา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา ใช้วิธีแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีธรรมชาติ พึ่งพาแสงอาทิตย์ในกระบวนการอบแห้ง ทำให้สูญเสียเวลาไม่น้อยกว่า 3 วันต่อรอบการผลิตโดยได้นำมากตากและวางบนพื้นแบบชาวบ้าน รวมถึงประสบปัญหาเรื่องความสะอาดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แต่ภายหลังจากเปลี่ยนมาใช้ตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้สามารถประหยัดเวลาลงได้ 1-1.5 วัน ต่อรอบการผลิต ทำให้สามารถเพิ่มรอบการผลิตได้มากขึ้น และยังทำให้ส้มควายที่ผลิตนี้สะอาดได้มาตรฐาน ปลอดภัยมากขึ้น

         นายวิโรจน์ กล่าวต่ออีกว่า การสนับสนุนตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา เพื่อแปรรูปผลผลิตส้มควายเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ นอกจากจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังสื่อถึงการตระหนักถึงคุณค่าของพืชท้องถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวภูเก็ต และยังส่งเสริมการอนุรักษ์ต้นส้มควายให้คงอยู่สืบไป ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแม่บ้านเกษตรกรบางหวานพัฒนา ถือเป็นโครงการเรียนรู้ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ได้เข้ามาศึกษาการแปรรูปผลไม้ถิ่นที่ประยุกต์ใช้พลังงานทดแทนอย่างลงตัวจนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอร่อย สะอาด ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญยังเป็นการสนับสนุนการกระจายรายได้ชุมชนอย่างแท้จริง

         ด้าน นางลัดดา คาวิจิตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า กลุ่มแม่บ้านเกษตรบางหวานพัฒนา หมู่ที่ 5 ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เริ่มมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชน เป้าหมายของกลุ่มทำอย่างไรให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น ให้ชุมชนมีรายได้ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ปีนี้เป็นมิมิตรหมายที่ดีที่ได้รับการสนับสนุนตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จากสำนักงานพลังงานจังหวัดภูเก็ต ทำให้ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย มีเวลาทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น