เผยสินค้าละเมิดฯ ลดลง ว่าผู้ค้าเปลี่ยนอาชีพใหม่

          ศปป.3 กอ.รมน. เร่งการป้องกันและปราบปรามด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ในจังหวัด ผลักดันจัดตั้งศูนย์ ปฏิบัติการฯประจำพื้นที่ภูเก็ต เพื่อให้การทำงานเกิดผลเป็นรูปธรรมเผยสถิติสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในภูเก็ตลดลง จากการเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รวมทั้งการรณรงค์ และใช้มาตรการป้องปราม3 มาตรการ ทำให้กลุ่มผู้ค้าหันไปขายของที่ระลึก และอาหารแท

         เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 พล.อ.บุญชู เกิดโชค ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พร้อมด้วย พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สอาดพรรค ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ร.ต.อาคม แตงอ่อน รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 พล.ต.ต.ธีรพล คุปตานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานการประชุมการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ของศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยมี นายสมบูรณ์ เฉยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรม ทรัพย์สินทางปัญญาหัวหน้าส่วนราชการตลอดจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

          พล.อ.บุญชู เกิดโชค ผอ.ศปป.3 กอ.รมน กล่าวว่า ในการป้องกันปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิด ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาขอให้ทุกหน่วยงานเน้นการปฏิบัติงานด้านการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการได้ยกเลิกและยุติการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคมเป็นต้นไปขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบจับกุมผู้กระทำผิดทั้งหมด โดยการจับกุมต้องขยายผลให้ได้ผู้กระทำผิดที่แท้จริง โดยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานเมื่อออกปฏิบัติหน้าที่จะต้องแต่งกายด้วยชุดเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน ต้องมีความโปร่งใส และซื่อสัตย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและขอให้เจ้าหน้าที่บูรณาการทำงานเพื่อป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากมีปัญหาขอให้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด สำหรับการจัดตั้งศูนย์ ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประจำพื้นที่ภูเก็ตขอให้จังหวัดภูเก็ตดำเนินการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมและเร่งจัดตั้งโดยเร็วที่สุด

          ด้าน นายสมบูรณ์ เฉยเจริญ ผู้อำนวยการสำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2560 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ประกาศผลการจัดอันดับสถานะประเทศคู่ค้าตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ โดยสหรัฐฯ ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) หลังจากที่อยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ซึ่งประเทศที่อยู่ในบัญชี PWL มีจำนวน 11 ประเทศ ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไทย อินเดีย อัลจีเรีย คูเวต รัสเซีย ยูเครน อาเจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ในบัญชี PWLเดิมทั้งหมด

         สำหรับสถานการณ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย ปรับตัวดีขึ้น มีจำนวนคดีที่ละเมิดลดลง และมีจำนวนของกลางเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับปัญหาการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติ (คปท.) พร้อมทั้งทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน 6 ตลาด ได้แก่ ศูนย์การค้า MBK, ตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว, ศูนย์การค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ประตูน้ำ, ย่านการค้าคลองถม, ย่านการค้าบ้านหม้อ และตลาดนัดจตุจักร ทั้ง 6 ตลาดเป็นตลาดที่มีชื่อเสียงในการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการที่ทำการป้องกันและปราบปรามสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประจำพื้นที่ที่ศูนย์การค้า MBK และตลาดสวนจตุจักร สำหรับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิด ทรัพย์สินทางปัญญา เน้นใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ทำการตรวจ แนะนำ ตักเตือนผู้จำหน่ายแจกเอกสารประชาสัมพันธ์ถึงโทษของการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ การประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสาย การจัดอบรมให้ความรู้กับผู้ค้า และหากมีผู้กระทำผิดจะทำการยกเลิกสัญญาเช่า เป็นต้น

           ขณะที่ พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ อุ้ยคำ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต รายงานสถานการณ์ ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ว่า จังหวัดภูเก็ต มี 3 อำเภอ 543 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 390,000 คน ประชากรแฝง ประมาณ 100,000 คน,แรงงานต่างด้าว ประมาณ 100,000 คน และมีนักท่องเที่ยวปีละ 12 ล้านคน ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจังหวัดภูเก็ต พื้นที่ที่มีปัญหาการละเมิดรุนแรงส่วนมากเป็นย่านการค้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันพบว่าแหล่งจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มบริโภคที่ซื้อ ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณภาพต่ำ ราคาถูก มักจะมีการจำหน่ายอยู่ตามตลาดนัด ในแหล่งชุมชน และกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีคุณภาพสูงมีความปราณีตในการผลิต ซึ่งจะมีราคาแพง แหล่งจำหน่ายสินค้าประเภทนี้จะอยู่ภายในศูนย์การค้า หรือห้างสรรพสินค้า ในจังหวัดภูเก็ตมีการกำหนดพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ (พื้นที่สีแดง) 3 พื้นที่ คือ หาดป่าตอง, หาดกะตะ, หาดกะรน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาก สำหรับพื้นที่อื่นๆ จะปรากฏในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความเข้มในการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีการจับกุมอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ทำให้การกระทำความผิดดังกล่าวหมดไปได้ ยังคงมีการลักลอบกระทำผิดอยู่อย่างต่อเนื่อง

         แต่อย่างไรก็ตามขณะนี้ผู้ประกอบการได้เปลี่ยนไปประกอบอาชีพขายสินค้าประเภทของที่ระลึก งานฝีมือ และร้านอาหารเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ในส่วนของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตมีมาตรการในการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน 3 มาตรการคือ มาตรการด้านการป้องกันและแสวงหาความร่วมมือเน้นดำเนินการจัดชุดสายตรวจออกตรวจตราตามพื้นที่เฝ้าระวัง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงบทลงโทษตามกฎหมาย บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก และส่งเสริมให้ประชาชนมีค่านิยม โดยไม่ใช้สินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แสวงหาความร่วมมือจากเจ้าของอาคาร สถานที่ ให้ยกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่ กรณีผู้เช่านำสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามาจำหน่าย, มาตรการสืบสวนปราบปรามเน้นการจัดทำระบบฐานข้อมูลอาชญากรรม แผนประทุษกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การดำเนินการปราบปรามการกระทำความผิดควบคู่ไปกับการป้องกัน ขยายผลการปฏิบัติไปยังแหล่งผลิต รับซื้อ จำหน่าย และ การบริหารจัดการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา คือดำเนินการจัดตั้งศูนย์เพื่อป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

           สำหรับผลการจับกุมผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มลดลงโดยปี 2559 มีการจับกุมผู้กระทำผิด ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 468 ราย และในปี 2560 จับกุมผู้กระทำผิด ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ได้ 249 ราย โดยการดำเนินการป้องกันปราบปรามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มีปัญหาอุปสรรค ด้าน กฎหมายมีบทลงโทษต่ำ คดีบางประเภทเป็นความผิดอันยอมความได้ และไม่มีโทษยึดทรัพย์ ผู้กระทำละเมิด ทำให้ผู้กระทำละเมิด ไม่เกรงกลัว กฎหมายไม่เอื้ออำนวยต่อการปราบปรามการละเมิดในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีเทคโนโลยีเข้ามา เกี่ยวข้อง เช่น การละเมิดบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเอาผิดเฉพาะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าละเมิดแต่ไม่เอาผิด ผู้ซื้อสินค้าละเมิด ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกในการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น และได้ ประโยชน์จากการซื้อและใช้สินค้าละเมิด ราคาสินค้าของจริงกับสินค้าของปลอมแตกต่างกันมาก เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันและปราบปราม และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้ เกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา