ประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางดำเนินงาน “SME Coaching Online 2021”ภายใต้โครงการ Train the Coach ปี 2564

ประชุมรับฟังความคิดเห็นและแนวทางดำเนินงาน

“SME Coaching Online 2021”
ภายใต้โครงการ Train the Coach ปี 2564

 

             เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา  ที่โรงแรมดารา ภูเก็ต นายวีระพงศ์ มาลัย  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ได้ดำเนินโครงการ “Train the Coach :  Accelerator 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญหรือโค้ชด้านธุรกิจและด้านเทคโนโลยี เข้าไปช่วย SMEให้มีความพร้อมและสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีการปรับเปลี่ยน (Transforming) ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 ได้ ซึ่งในปัจจุบันได้เข้าสู่ระยะปีที่ 4 แล้ว โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ

            นายวีระพงศ์ กล่าวต่อว่า ในปี 2564 นี้ สสว.ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง จึงมุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่จะแก้วิกฤติใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1. ปัญหาทางการเงิน หนี้สิน 2. ปัญหายอดขายตกหรือการเพิ่มประสิทธิภาพบนดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง 3. ปัญหาด้านต้นทุนสูง ส่งผลทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดได้ และ 4.การปรับเปลี่ยน (Transform) โมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อมองหาโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพหลังยุคโควิด เช่น การปรับเปลี่ยนโมเดลในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงการมองโอกาสธุรกิจใหม่จากกลุ่มธุรกิจใหม่ๆที่ตลาดกำลังเติบโต โดยจะมุ่งเน้นในกลุ่มธุรกิจบริการสุขภาพ ร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจที่พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจใหม่หรือในธุรกิจเดิมได้

              นอกจากนี้ สสว.ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ระบบ SME Coaching Online สามารถตอบสนองและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้จากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการตามนโยบายของรัฐบาล รวมถึงในปีนี สสว. จะพัฒนาและเสริมประสิทธิภาพให้กับโค้ชทั่วประเทศที่อยู่บนระบบให้มีเครื่องมือเป็นอาวุธในการประยุกต์ใช้เข้าช่วยเหลือ วินิจฉัย และหาวิธีแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด

               ส่วนทาง “โครงการฯ จึงนำฐานข้อมูลในระบบย้อนหลังของการวินิจฉัย วิธีการแก้ไขด้านธุรกิจมากกว่า 1,000 ราย มาวิเคราะห์และจัดทำเป็นระบบ และนำผู้เชี่ยวชาญ หรือ โค้ชที่ปรึกษาธุรกิจที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาตรวจสอบ และร่วมวางกรอบแนวทาง การวินิจฉัย และวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะทางนั้นๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้โครงการจะมีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้ กับโค้ชในพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564, จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 26 มีนาคม 2564, จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 31 มีนาคม 2564 และ กรุงเทพมหานคร วันที่ 2 เมษายน 2564 ตามลำดับ”

              นายวีระพงศ์ กล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบันมีจำนวนโค้ชในระบบประมาณ 3,500 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีสาขาความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และพร้อมจะให้บริการปรึกษาแนะนำ ชี้แนะกลยุทธ์ธุรกิจแก่ SMEได้ทั้งในสถานประกอบการและบนออนไลน์ ซึ่งแม้ในปี 2564 สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดรอบใหม่จึงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME แต่ สสว. และหน่วยงานร่วมดำเนินการร่วมกันเตรียมแผนงานและแนวทางไว้รองรับการดำเนินกิจกรรมที่จะร่วมพัฒนาโค้ช SME ให้มีขีดความสามารถในการแก้ปัญหาธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ และการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาร่วมพัฒนาบริการปรึกษาแนะนำ เพื่อการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และยังสามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจและหรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อที่นางสาวกมลวรรณ เล็กกระจ่าง โทร. 02-298-3148 หรืออีเมล์ : kamolwun@sme.go.th และติดตามข่าวสารโครงการและกิจกรรมได้ที่ www.thesmecoach.com นายวีระพงศ์ ทิ้งท้ายในที่สุด