ม.ราชภัฏภูเก็ต MOU ร่วมมือออกแบบพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน

         เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2561 ณ โรงแรมบูกิตตา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดภูเก็ตและสถาบันการศึกษาของจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3 สถาบัน ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตภูเก็ต และวิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต ในการนี้มี นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ร่วมด้วย นายกิติพล เวชกุล พัฒนาการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน/กลุ่ม องค์กรและประชาชนกว่า 200 คน

         ผศ.ดร.หิรัญ ประสารการ กล่าวว่า “การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เนื่องมาจากจังหวัดภูเก็ตได้รับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 งบกลางรายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อดำเนินงานตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) ในวงเงินประมาณ 10,825,800 บาท พัฒนาใน 3 อำเภอ 3 หมู่บ้านประกอบด้วยหมู่บ้านบ่อแร่ หมู่ 6 ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต,บ้านไม้ขาว หมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง และบ้านหัวควน หมู่ที่ 5 ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจรากฐานให้เกิดรายได้กับชุมชนโดยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง เชื่อมโยงแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวบนเส้นทางท่องเที่ยวตามเขตพัฒนาการท่องเที่ยวแปดเส้นทางให้มีความโดดเด่นบนอัตลักษณ์ของชุมชน สร้างและพัฒนาบุคลากรผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องในหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวให้มีขีดความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์และสามารถนำมาต่อยอดในการจัดการหมู่บ้านได้อย่างเหมาะสม

         ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตนั้น เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจคือการให้บริการวิชาการแก่สังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทางด้านต่างๆ โดยทางมหาวิทยาลัย ได้ส่งสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยช่วยเหลือทางด้านการออกแบบชุมชน ซึ่งได้ทำการลงพื้นที่สำรวจและศึกษาชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งกระบวนการและเครื่องมือที่จะนำไปพัฒนาและออกแบบที่อยู่อาศัยร่วมชุมชน และสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปช่วยเหลือทางด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ในชุมชน ซึ่งสาขาวิชาเหล่านี้ จะช่วยพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสของหมู่บ้าน ที่จะได้พัฒนาตนเองในการรองรับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การพัฒนาผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาสภาพแวดล้อม  เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำของสังคม สร้างโอกาสสร้างอาชีพ และรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ให้เกิดความเข้มแข็งโดยการใช้ความหลากหลายใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่มีความโดดเด่นมาสร้างมูลราคาผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วนเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นยกระดับให้เป็นสินค้าที่ระลึกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมและใช้จ่ายในหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่อบอุ่นประทับใจโดยยึดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงขอให้ผู้นำชุมชนที่เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความตั้งใจรับความรู้เพื่อนำไปใช้พัฒนาหมู่บ้านของตนเอง เพื่อให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้รับงบประมาณตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวได้ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการมีรายได้เข้าหมู่บ้าน/ชุมชนประชาชนในหมู่บ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขอย่างยั่งยืน” รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าว