รมว.พาณิชย์ หารือร่วมภูเก็ต-พังงา ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเดินหน้าเปิดรับ นทท.ต่างชาติในเดือน ก.ค.64 รับประสาน ศบค.และรัฐบาล จัดสรรวัคซีนให้เป็นไปตามแผน

รมว.พาณิชย์ หารือร่วมภูเก็ต-พังงา ขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเดินหน้าเปิดรับ นทท.ต่างชาติในเดือน ก.ค.64 รับประสาน ศบค.และรัฐบาล จัดสรรวัคซีนให้เป็นไปตามแผน

           วันที่​ 22 พ.ค.64​ ที่ห้องประชุมเจ ดับเบิ้ลยู แมริออท ภูเก็ต รีสอร์ทแอนด์สปา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายจุ รินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมหารือร่วมกับทีมเซลล์แมนจังหวัดภูเก็ตและพังงา โดยมีหน่วยงานภาครัฐในฐานะเซลล์แมน และองค์กรภาคเอกชนของทั้ง 2 จังหวัด อาทิ พาณิชย์จังหวัด, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, หอการค้าจังหวัด, สภาอุตสาหกรรม, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, สภาเกษตรกร เป็นต้น เข้าร่วม

           นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกันของเซลล์แมนทั้งสองจังหวัดว่า การเชิญเซลล์แมน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของทั้ง 2 จังหวัด มาหารือร่วมกันนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจของอันดามัน ซึ่งมีภูเก็ตกับพังงาเป็นพื้นที่หลัก โดยขึ้นกับ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยด้านการเกษตร ขณะนี้ถือว่าราคาพืชผลทางการเกษตรดีเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางพาราปัจจุบันมีราคาเกินกว่า 60 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ปาล์มน้ำมันมีราคา 5-6 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลาต่อเนื่องร่วมปีแล้ว รวมทั้งราคาผลไม้หลายชนิดก็อยู่ในราคาที่ดีมาก เช่น มังคุดจันทบุรี ราคากิโลกรัมละเกือบ 200 บาท, ทุเรียนราคาเกินกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น พืชเกษตรในขณะนี้ในภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ โดยเฉพาะในหวัดภูเก็ตและพังงาพอใจ และมีผลทำให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้นเป็นลำดับด้วย เนื่องจากกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน และมีผลต่อการเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศที่เป็นพระเอก คือ การส่งออก และในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมากระเตื้องขึ้นตามลำดับ โดยเดือนมีนาคม เป็นบวก 8.57 % และเมษายนนี้ คาดว่าจะบวกไม่ต่ำกว่า 13%

          ส่วนปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเคลื่อนยนต์ทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ยังติดขัดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จึงได้มีการหารือร่วมกัน เพื่อเตรียมการกำหนดมาตรการต่างๆ ในทางปฏิบัติ รองรับแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ Phuket Tourism Sandbox ครอบคลุมไปถึงพื้นที่จังหวัดพังงาด้วย หลังนักท่องเที่ยวอยู่ภูเก็ตครบ 7 วันแล้ว ในรูปแบบอันดามันคลัสเตอร์

           นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภูเก็ตเริ่มเปิดเมืองในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับวัคซีนและการบริหารจัดการอื่นๆ ด้วย ซึ่งได้ข้อสรุป 2-3 เรื่อง โดยตนรับจะไปช่วยประสานกับ ศบค. และรัฐบาล เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามเป้าหมายวางไว้ โดยประการแรก คือ การจัดสรรวัคซีนให้กับจังหวัดภูเก็ตให้ได้ครบตามตามปริมาณที่ได้กำหนดไว้ ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2564 จำนวน 930,000 โดส ส่วนของจังหวัดพังงา ตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม 2564 จำนวน 210,000 โดส หากเป็นไปตามแผนดังกล่าวจะทำให้แต่ละจังหวัดสามารถบริหารจัดการและเตรียมการล่วงหน้าในการเปิดเมืองตามกำหนด ประการที่ 2 ขอให้จังหวัดพังงาเร่งปรับแผน เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้สอดคล้องกับจังหวัดภูเก็ต เพราะการขายทัวร์หรือแผนการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวต่างประเทศควรจะขายร่วมกัน ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้สนใจเดินทางมามากขึ้น ซึ่งจะได้ประสานหารือกับผู้ว่าฯ จังหวัดพังงาอีกครั้ง

              ประการที่ 3 การเดินทางเข้ามาหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคมแล้ว หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะมีเที่ยวบินตรงมาจากประเทศคู่สัญญาที่เราจะเปิดรับนักท่องเที่ยว เช่น อังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย สหรัฐ อิสราเอล ฝรั่งเศส กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น ซึ่งสนามบินภูเก็ตจะต้องเตรียมพร้อมรองรับการเดินทางของแต่ละเที่ยวบิน ซึ่งอาจจะมาช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยจะต้องเตรียมบุคลากรทั้งหมดให้พร้อม ขณะนี้ทราบว่า บุคลากรบางหน่วยงานมีไม่เพียงพอ เช่น ด่านควบคุมโรค เป็นต้น จะได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

            สุดท้ายประการที่ 4 ในส่วนของจังหวัดภูเก็ตและพังงาจะต้องทำแผนงานไทยเที่ยวไทยร่วมกันเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวได้ทั้งสองจังหวัด เพื่อให้เกิดความสะดวกกับนักท่องเที่ยวคนไทยตามนโยบายรัฐบาลต่อไป ส่วนจังหวัดอันดามันอื่นๆ อีก 4-5 จังหวัด เช่น กระบี่ เป็นต้น จะมีการประชุมร่วมกันอีกสักครั้ง