อุโมงค์ข้ามชาติ

          สมัยก่อนป่าตองเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ เงียบ ๆ ไม่มีคนมาท่องเที่ยวกัน เพราะในหนังสือสังคมศึกษาชั้นประถมศึกษาของประเทศไทย ระบุไว้ 2-3 บรรทัด จับความได้ว่า ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย มีมรสุมมากไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว และเมื่อเอ่ยถึงจังหวัดภูเก็ตก็แทบไม่มีชื่อของหาดป่าตองด้วยซ้ำ

          ก็ต้องขอยกย่อง คนเก่าแก่ในพื้นที่ผู้บุกเบิกหาดป่าตองให้กลายเป็น “ห้องรับแขกของโลก” อาทิ เช่น “กำนันเปี่ยน” เปี่ยน กี่สิ้น อดีตนายกเทศมนตรีเมืองป่าตองผู้ล่วงลับ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักธุรกิจเจ้าของพื้นที่ ที่ได้ร่วมกับหลาย ๆ ท่านที่ไม่สามารถเอ่ยนามได้หมด ทำให้ชื่อเสียงของป่าตองโด่งดังจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโลก ที่มีพร้อมทั้งความสวยงามตามธรรมชาติ สิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงสารพัดชนิด

          อย่างไรก็ตามการเดินทางไปหาดป่าตอง ก็ไม่สะดวกสบายและไม่ปลอดภัยเลย โดยเฉพาะเส้นทางข้ามเขาระหว่างกะทู้ไปป่าตอง ถือเป็นเส้นทางอันตรายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะเป็นถนนสองช่องจราจร แคบ และเต็มไปด้วยความคดเคี้ยว ลาดชันตลอดเส้นทางขึ้นลง

          สำคัญที่สุดถนนขึ้นเขาป่าตอง เป็นเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นตลอดทั้งวัน เพราะมีทั้งรถยนต์รถจักรยานยนต์ของพนักงานโรงแรม บริษัท ห้างร้าน ขับขึ้นลงเปลี่ยนกะเปลี่ยนเวรตลอดทั้งวัน มีรถบัสรถตู้รถทัวร์ขนส่งนักท่องเที่ยวขึ้นลงทั้งวัน และก็มีรถบรรทุกขนาดใหญ่ขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้างขึ้นลงในชั่วโมงเร่งด่วน เรียกว่าถนนสายนี้ไม่มีเวลาพักเลย

          ดังนั้นข่าวคราวการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายนี้จึงเกิดขึ้นรายวัน หนักบ้างเบาบ้าง แต่ไม่มีวันไหนที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ จนมีคำถามของคนภูเก็ตว่า ทำไมผู้รับผิดชอบจึงไม่คิดทำอะไรกันบ้าง จะปล่อยให้คนภูเก็ตเสี่ยงอันตรายแบบนี้ต่อไปชั่วนาตาปีหรือ?

          ก็มีผู้ประสงค์ดีต่อบ้านเมืองหลายท่านเสนอโครงการขุดอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง เพื่อให้การจราจรเป็นไปด้วยความสะดวกและปลอดภัย ระหว่างนั้นก็มีการศึกษา หาข้อมูลกันหลายตลบ ว่าเส้นทางไหนปลอดภัยที่สุด ทำแล้วเกิดปัญหาน้อยที่สุด แต่ทำไปทำมาก็ได้แค่ “แพลน แล้วก็นิ่ง” คือ ไม่มีสตางค์ จึงเงียบเก็บเข้าลิ้นชักทุกที

          เรื่องของอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง เป็นอภิมหากาพย์ข้ามภพข้ามชาติที่ศึกษา จดจ้องกันไม่ยอมจบสิ้นและลงมือสร้างกันเสียที ก็กลับมาเป็นข่าวอีกหน

          จริง ๆ ระยะทางระหว่างกะทู้ไปป่าตอง มันก็แค่ข้ามเขาไปลูกเดียว เป็นพวกชาวเขานักเดินป่าคงบอกว่า ใกล้มากเดินกันจริง ๆ ไม่นานก็ถึง แต่การสร้างถนนข้ามเขาต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเส้นทาง จึงต้องคำนวณความลาดชัน อ้อมไปอ้อมมาเพื่อพอให้ขับรถผ่านไปได้

          ล่าสุด ข่าวก็ออกมาอีกแล้วครับ แนวโน้มน่าจะไม่ค่อยดีสำหรับคนบ้านเรา เพราะการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ลองไปดีดลูกคิดรางแก้ว ได้เป็นโจทย์ว่า เจาะอุโมงค์ทะลุเขาป่าตองนี่จะได้เส้นทางเป็นตัวเลขกลม ๆ คือ 4 กิโลเมตร และใช้เงินลงทุนประมาณ 14,000 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจดี แต่ผลตอบแทนทางการเงินแค่ 3 – 4% เท่านั้น สรุปคือ คงไม่มีเอกชนหน้าไหนสนใจมาลงทุนขุดอุโมงค์ป่าตองแน่นอน

           คิดแบบชาวบ้านนะครับ มันก็จริงของเขา เพราะถ้าเอาแค่หารกันสนุก ๆ ว่า 14,000 ล้านบาท ได้สัมปทานสัก 30 ปี เฉลี่ยแบบไม่มีดอกเบี้ย แต่ละปีต้องเอาทุนคืนให้ได้ถึง 467 ล้านบาท หรือต้องเก็บค่าผ่านทางให้ได้วันละ 1.3 ล้านบาท หรือชั่วโมงละ 53,250 บาท หรือนาทีละ 887.50 บาท

          ตัวเลขอันนี้คือไม่รวมดอกเบี้ยที่เอกชนต้องไปกู้ยืมมาจากแหล่งทุน ค่าใช้จ่ายด้านบุคคล ด้านสาธารณูปโภค ด้านการบำรุงรักษา และอื่น ๆ ที่จะทำให้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่านี้แน่นอน

          อย่างไรก็ตาม หากว่าการเก็บค่าผ่านทางสูงขึ้นมากกว่านี้ เช่น รถยนต์คันละ 50 – 100 บาท ก็คงทำให้การคืนทุนไวขึ้น แต่ก็คงเป็นเรื่องที่ หนักหนาสาหัสสำหรับคนที่มีรายได้ปานกลางหรือรายได้น้อยที่จะมาใช้เส้นทางนี้

          สรุปจริง ๆ ก็คงต้องอาศัยกำลังภายในของใครก็ได้ ให้สามารถพา “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนใจถึง มานั่งรถข้ามเขาป่าตอง และอธิบายให้ฟังชัด ๆ ว่า ถนนเส้นนี้อันตรายแค่ไหน และถ้าขุดอุโมงค์ 14,000 ล้านบาทให้กับคนภูเก็ต ประเทศไทยจะได้อะไรที่เพิ่มมากขึ้นกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวภูเก็ตปีละ 2 – 3 แสนล้านบาท นั่นก็คือ ความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นกว่าแหล่งท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่รอบข้างประเทศไทย

         เป็นไปได้ว่า หากรัฐบาลยอมกัดฟัน เอาเงินที่คนภูเก็ตส่งเข้ากงสีไปหลายสิบปีหลายล้านล้านบาท เอามาแค่ 14,000 ล้านบาท นอกจากขนหน้าแข้งไม่ร่วงแล้ว เผลอ ๆ แค่ไม่เกิน 20 ปี รัฐบาลอาจหลุดทุนมีกำไรสำหรับโครงการนี้แล้วก็ได้